กิจกรรมวันสุนทรภู่และวันภาษาไทยแห่งชาติ

โรงเรียนโพธิ์ทองวิทยาคารจัดกิจกรรมวันสุนทรภู่และวันภาษาไทยแห่งชาติขึ้นในระหว่างวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 ถึงวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 โดยระหว่างวันที่ 17 - 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 จัดกิจกรรมที่ห้องสมุดโรงเรียนในช่วงเวลา 12.30 - 13.00 น. ประกอบด้วยกิจกรรมต่างหลากหลายกิจกรรม เช่น การคัดลายมือ การเขียนเรียงความ การอ่านทำนองเสนาะ การจัดป้ายนิเทศ การเขียนสะกดคำ การตอบคำถามเกี่ยวกับสุนทรภู่และภาษาไทย และการตอบคำถามความรู้ทั่วไป

และในวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เป็นการจัดกิจกรรมที่หอประชุมโรงเรียนประกอบด้วยกิจกรรม การแสดงละครวันภาษาไทย การประกวดตัวละครในวรรณคดี การแสดง Cover Dance และการประกวดร้องเพลง

สร้างความสนุกสนานให้กับครูนักเรียน เป็นการจัดการเรียนรู้อีกทางหนึ่ง

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง


[หน้าหลัก] [ขึ้นบนสุด]

ดูภาพกิจกรรมอื่นๆ  

 

วันภาษาไทยแห่งชาติ


วันภาษาไทยแห่งชาติ ความเป็นมาเป็นอย่างไร 
          สืบเนื่องจากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อภาษาไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย และมีความห่วงใยในปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นต่อภาษาไทย รวมถึงเพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกให้คนไทยทั้งชาติได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือกันทำนุบำรุง ส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป จึงได้เสนอขอให้รัฐบาลประกาศให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น "วันภาษาไทยแห่งชาติ" เช่นเดียวกับวันสำคัญอื่น ๆ ที่รัฐบาลได้จัดให้มีมาก่อนแล้ว เช่น วันวิทยาศาสตร์, วันสื่อสารแห่งชาติ เป็นต้น และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2542 เห็นชอบให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น "วันภาษาไทยแห่งชาติ"  

เหตุผลที่เลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ
          สำหรับเหตุผลที่เลือกวันที่ 29 กรกฎาคม เป็น วันภาษาไทยแห่งชาติ เพราะวันดังกล่าว ตรงกับวันที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธาน และทรงร่วมอภิปรายในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ห้องประชุมคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2505 ทรงเปิดอภิปรายในหัวข้อ "ปัญหาการใช้คำไทย" โดยพระองค์ทรงดำเนินการอภิปรายและทรงสรุปการอภิปราย ที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถและความสนพระราชหฤทัยรวมถึงความห่วงใยในภาษาไทย ซึ่งเป็นที่ประทับใจกับผู้ร่วมเข้าประชุมในครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง


          สำหรับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในครั้งนั้น มีใจความตอนหนึ่งว่า "เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษาก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียง คือให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่าวิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สามคือความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้... สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่าย ๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่า ๆ ที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก..."

          นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์ของวงการภาษาไทย ที่ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว ซึ่งในโอกาสต่อมา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังได้ทรงแสดงความสนพระราชหฤทัยและความห่วงใยในภาษาไทยอีกหลายโอกาส 

          อย่างในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2512 ที่ได้มีพระบรมราโชวาทตอนหนึ่งว่า "ในปัจจุบันนี้ปรากฏว่า ได้มีการใช้คำออกจะฟุ่มเฟือย และไม่ตรงกับความหมายอันแท้จริงอยู่เนือง ๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นไปดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งอันประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึง เราทุกคนจึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ ฉะนั้นจึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษาไทย ซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกันเพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ"

 

          นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังมีพระปรีชาญาณและพระอัจฉริยภาพในการใช้ภาษาไทย ทรงรอบรู้ปราดเปรื่องถึงรากศัพท์ของคำไทย คือ ภาษาบาลีและสันสกฤต ทรงพระอุตสาหวิริยะแปลและเรียบเรียงวรรณกรรมภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยที่สมบูรณ์ด้วยลักษณะวรรณศิลป์ มีเนื้อหาสาระที่มีคุณค่า เป็นคติในการเสียสละเพื่อส่วนรวม และเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนในการใช้ภาษาไทย ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ ติโต พระราชนิพนธ์แปลบทความเรื่องสั้น ๆ หลายบท และพระราชนิพนธ์เรื่อง พระมหาชนก เป็นต้น

วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งวันภาษาไทยแห่งชาติ
           1. เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ผู้ทรงเป็นนักปราชญ์และนักภาษาไทย รวมทั้งเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ที่ได้ทรงแสดงความห่วงใย และพระราชทานแนวคิดต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้ภาษาไทย
          2. เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542
          3. เพื่อกระตุ้นและปลุกจิตสำนึกของคนไทยทั้งชาติ ให้ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย ตลอดจนร่วมมือร่วมใจกันทำนุบำรุงส่งเสริม และอนุรักษ์ภาษาไทย ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และเป็นสมบัติวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชาติ ให้คงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
          4. เพื่อเพิ่มพูนประสิทธิภาพในการใช้ภาษาไทย ทั้งในวงวิชาการและวิชาชีพ รวมทั้งเพื่อยกมาตรฐานการเรียนการสอนภาษาไทยในสถานศึกษาทุกระดับ ให้สัมฤทธิผลยิ่งขึ้น
          5. เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ภาษาไทยในรูปแบบต่าง ๆ ไปสู่สาธารณชน ทั้งในฐานะที่เป็นภาษาประจำชาติ และในฐานะที่เป็นภาษาเพื่อการสื่อสารของทุกคนในชาติ

ประโยชน์ที่คาดว่าได้รับจากการมีวันภาษาไทยแห่งชาติ
          1. วันภาษาไทยแห่งชาติ จะทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานในกระทรวงศึกษาธิการ และทบวงมหาวิทยาลัย ตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย และร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นเตือน เผยแพร่ และเน้นย้ำให้ประชาชนเห็นความสำคัญของ "ภาษาประจำชาติ" ของคนไทยทุกคน และร่วมมือกันอนุรักษ์การใช้ภาษาไทยให้มีความถูกต้องงดงามอยู่เสมอ
          2. บุคคลในวงวิชาชีพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษาไทย โดยเฉพาะในวงการศึกษาและวงการสื่อสาร ช่วยกันกวดขันดูแลให้การใช้ภาษาไทยเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม มิให้ผันแปรเปลี่ยนแปลง จนเกิดความเสียหายแก่คุณลักษณะของภาษาไทยอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ
          3. ผลสืบเนื่องในระยะยาว คาดว่าปวงชนชาวไทยทั่วประเทศจะตื่นตัวและสนใจที่จะร่วมกันฟื้นฟู ทำนุบำรุง ส่งเสริมและอนุรักษ์ภาษาไทย อันเป็นเอกลักษณ์และสมบัติวัฒนธรรมที่สำคัญของชาติให้ดำรงคงอยู่คู่ชาติไทยตลอดไป
 

กิจกรรมในวันภาษาไทยแห่งชาติ
          กิจกรรมในวันนี้ก็จะมีทั้งของสถาบันการศึกษา, หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่จะมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดนิทรรศการ, การอภิปรายทางวิชาการ, การประกวดแต่งคำประพันธ์ ร้อยแก้ว ร้อยกรอง การขับเสภา การเล่านิทาน เป็นต้น
          ภาษาไทยถือเป็นภาษาแห่งชาติ และเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่เราคนไทยควรภาคภูมิใจ เพราะบางประเทศไม่มีแม้กระทั่งภาษาที่เป็นของตัวเอง ดังนั้น เราควรอนุรักษ์ภาษาไทยให้คงอยู่ และสืบทอดต่อไปให้ลูกหลานได้ศึกษา หากเราคนไทยไม่ช่วยกันรักษาไว้ สักวันหนึ่งอาจจะไม่มีภาษาไทยให้ลูกหลานใช้ก็เป็นได้ 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : kapook.com

หน้าหลัก

 


นางมัธนะพาธา ตำนานรักดอกกุหลาบ


นางมัทนา จากวรรณคดีเรื่อง มัทนะพาธา หรือ ตำนานดอกกุหลาบ

 

     นางมัทนา เดิมทีนั้นเป็นเทพธิดาอยู่บนสรวงสวรรค์ นางมีความงดงามเหนือเทพธิดาทั้งมวล ความงามของนางต้องตาเทพบุตรหลายองค์ โดยเฉพาะ เทพบุตรสุเทษณ์ ที่หลงรักนางจนหมดหัวใจ...
     แต่นางมัทนาปฏิเสธคำสารภาพรักของเทพบุตรสุเทษณ์ ด้วยเหตุผลที่ว่า...
     "ความรักเกิดมาจากบุคคลทั้งสองฝ่าย ข้าเองไม่ได้มีใจรักท่าน...ข้าคงรับรักท่านไม่ได้...ขออภัยด้วยเพคะ..."


     ได้ยินดังนั้น เทพบุตรสุเทษณ์ก็โกรธมากที่ถูกมัทนาปฏิเสธ จึงสาปนางมัทนาให้มาเกิดยังโลกมนุษย์ หากแต่ไม่ได้เกิดจากครรภ์ของมนุษย์ แต่มาเกิดเป็นดอกไม้ที่ไม่เคยปรากฏบนโลก มีแต่ในสวรรค์ มีสีแดงสดสวยงาม และมีกลิ่นหอมเย้ายวนใจ ที่มีชื่อว่า "ดอกกุพพะชะกะ" หรือ "ดอกกุหลาบ" นั่นเอง
     แต่เทพบุตรสุเทษณ์ให้ข้อยกเว้นว่า ถ้าคืนที่พระจันทร์เต็มดวง มัทนาจะสามารถคืนร่างเป็นหญิงสาวสวยได้ตามปกติ และถ้าหากนางมัทนารู้ถึงรสชาติของความรักที่แท้จริงแล้ว นางจะคืนร่างเป็นหญิงสาวสวยได้ตลอด ไม่ต้องกลับมาเป้นดอกกุหลาบอีก
     เมื่อนางมัทนามาอยู่โลกมนุษย์แล้ว...ก็มีฤาษีตนหนึ่งรับรู้การมาเกิดของนางได้ด้วยญาณทิพย์ ฤาษีตนนั้นชื่อ "กาละทรรศิน" ฤาษีกาละทรรศินจึงสั่งให้ลูกศิษย์ไปขุดต้นกุหลาบในป่ามาปลูกไว้ใกล้ๆอาศรม พร้อมกำชับลูกศิษย์ว่าให้มารดน้ำ พรวนดินทุกๆวัน อย่าได้ขาด
     เมื่อถึงคืนพระจันทร์เต็มดวง นางมัทนาก้คืนร่างเป็นหญิงสาวสวย มารับใช้ฤาษีกาละทรรศินทดแทนบุณคุณที่ช่วยเหลือดูแลนาง ยกย่องฤาษีดั่งบิดาเลยก็ว่าได้...
     วันหนึ่ง "พระชัยเสน" เจ้าเมืองหนุ่มรูปงามเดินทางมาขอพักอาศัยในอาศรมของฤาษีกาละทรรศิน พระชัยเสนได้พบกับนางมัทนาที่ตอนนั้นมารับใช้ฤาษีพอดี พระชัยเสนตกตะลึงในความงามของนาง และตกหลุมหลงรักนางในทันที 


     นางมัทนาเองก็มีใจให้พระชัยเสนเช่นกัน แต่ต่างฝ่ายต่างไม่กล้าบอกความในใจของตนให้อีกฝ่ายได้รับรู้...สุดท้ายพระชัยเสนจึงไปแอบดูนางมัทนาที่ศาลาที่พักของนาง และได้ยินคำรำพันรักของนางจนหมดสิ้น พระชัยเสนจึงบอกความในใจของตนให้มัทนาได้รับรู้เช่นกัน ทั้งสองเดินเล่นกันไปถึงริมน้ำแห่งหนึ่ง ทั้งสองมองพระจันทร์เต็มดวงด้วยความสุข นางมัทนาขอให้พระชัยเสนสัญญากับนางว่า "จะรักและเชื่อใจกันตลอดไป" ซึ่งพระชัยเสนก็รับคำอย่างดิบดี (ดิบดี...ชิ! คอยดูต่อไปเถอะ จะรักษาไว้ได้ไหม!)
     หลังจากนั้นพระชัยเสนก็ไปขอนางมัทนาจากฤาษีกาละทรรศิน ท่านฤาษีก็อนุญาต พระชัยเสนจึงพามัทนากลับเมือง และจัดพิธีอภิเษกสมรสอย่างยิ่งใหญ่ (นางมัทนามีรักแท้กับพระชัยเสนแล้ว...จึงไม่ต้องกลับไปเป็นดอกกุหลาบอีก)
     ปัญหาและอุปสรรคความรักของทั้งสอง...คงหนีไม่พ้น "พนะนางจัณฑี" มเหสีเอกของพระชัยเสน ผู้มีรูปหน้างดงาม หากแต่จิตใจของนางนั้นแข็งกร้าว ขี้อิจฉา และเจ้าคิดเจ้าแค้น...
     นางจัณฑีไม่พอใจที่พระสวามีจะมีมเหสีใหม่ จึงวางแผนกับนางกำนัลคนสนิท ให้ไปจ้างหมอไสยศาสตร์มาแกล้งทำพิธีเสน่ห์ให้พระชัยเสนเห็น แล้วให้หมอไสยศาสตร์ทูลเท็จว่า นางมัทนาเป็นผู้จ้างวานให้ทำเสน่ห์ใส่องครักษ์คนสนิทของพระชัยเสน...


     ทุกอย่างถูกดำเนินไปตามแผนการอันชั่วร้าย (สุดๆ) ของพระนางจัณฑี พระชัยเสนเองก็หูเบาเชื่อหมอไสยศาสตร์ ถึงกับสั่งประหารมัทนา และปลดตำแหน่งองครักษ์คนสนิทของตนเสีย (วันหลังนะ...ไรเตอร์จะซื้อต้มหูไปฝากพระชัยเสน จะได้ไม่ "หูเบา" - -*)
     นางมัทนาร้องห่มร้องไห้เสียใจ ที่พระชัยเสนลืมสัญญาที่ทรงให้ไว้กับนางก่อนแต่งงาน แต่เคราะห์ยังดีที่เพชรฆาตรู้ว่านางไม่ผิดจึงปล่อยนางไป มัทนาจึงเข้าป่ากลับไปอาศัยกับฤาษีกาละทรรศินเหมือนเดิม โดยมี "ปริยัมวะทา" นางกำนัลคนสนิทติดตามมาด้วย...
     ต่อมาพระชัยเสนรู้ความจริงจากหมอไสยศาสตร์ที่สำนึกผิด ก็ทรงเสียพระทัยมาก จึงสั่งเนรเทศนางจัณฑีและนางกำนัล และออกติดตามหานางมัทนา ทันทีที่รู้จากเพชรฆาตว่า มัทนายังไม่ตาย...
     ฝ่ายมัทนาเองก็ซูบผอมลงทุกวันๆ หน้าตาหมองเศร้า ปริยัมวะทาเองก็สงสารนายหญิงของตนจับใจ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้
     สุดท้ายนางมัทนาจึงทำพิธีบวงสรวงเทพบุตรสุเทษณ์ให้รับนางกลับสรวงสวรรค์อีกครั้ง แต่เทพบุตรสุเทษณ์มีข้อแม้ว่านางต้องยอมเป็นมเหสีของตน จึงจะรับนางกลับมาเป็นเทพธิดาดั่งเดิม...
     แต่นางมัทนากล่าวด้วยถ้อยคำอันเด็ดเดี่ยวว่า
     "ตัวข้านี้มีสวามีอยู่เเล้ว...หญิงดีจะมีสองสวามีนั้นหาควรไม่..."
     นั่นทำให้เทพบุตรสุเทษณ์โกรธยิ่งกว่าเก่า และสาปให้มัทนา กลายเป็นดอกกุหลาบตลอดไป ไม่มีโอกาสกลับมาเป็นหญิงสาวได้อีก!!!
     หลังจากนั้นพระชัยเสนก็เดินทางมาถึงอาศรมของฤาษี (พึ่งมาเรอะ!!! - -*) จึงได้รู้ว่านางมัทนากลายเป็นดอกกุหลาบไปแล้ว พระชัยเสนร่ำไห้เสียใจที่ต้องสูญเสียนางไป ฤาษีกาละทรรศินจึงให้พรว่า ขอให้กุหลาบมีอายุเท่าพระชัยเสน ตราบใดที่พระชัยเสนยังมีชีวิตอยู่...ดอกกุหลาบนี้จะไม่มีวันร่วงโรย...


     พระชัยเสนนำกุหลาบกลับเมือง ปลูกกุหลาบไว้ใกล้หน้าต่างห้องบรรทม และทรงเฝ้ามองกุหลาบนั้นเสมอมา ตราบจนจบชีวิต...


ขอบคุณข้อมูลจาก : https://writer.dek-d.com/sasadonat/story/viewlongc.php?id=892984&chapter=4